สวัสดีค่ะเพื่อนๆทุกคน กลับมาอีกแล้วกับการเขียนบล็อควันนี้นะคะ ในบล็อคที่แล้วเราพาเพื่อนๆไปเที่ยวที่วัดภูก้อน จังหวัดอุดรธานีกันแล้ว และในบล็อคนี้จะพาเพื่อนๆไปเที่ยวชมโบราณสถานที่สำคัญของเมืองไทยอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ "ปราสาทหินพนมรุ้ง" นั่นเองค่ะ ซึ่งเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,320 ฟุต นับได้ว่าสูงมากๆเลยทีเดียว จึงได้รับการขนานนามว่าเปรียบเสมือนเทวาลัยบนเขาไกรลาศ ที่เป็นที่ประทับของพระศิวะ และเรื่องราวของพนมรุ้งจะเป็นอย่างไร ไปชมกันเลยค่ะ :D
ที่มาของปราสาทหินพนมรุ้ง
ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ชื่อพนมรุ้ง มาจากภาษาเขมร วนํ รุง แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทหินพนมรุ้งแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ประทับของพระศิวะ(เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย) และยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆทางศาสนาฮินดู จากหลักฐานที่ปรากฎในศิลาจารึกพบว่า ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 แต่ไม่ได้ปรากฏว่าปราสาทหลังใหญ่(ปราสาทประธาน)ถูกสร้างมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งในการสร้างปราสาทให้ขึ้นเป็นเทวสถานสมบูรณ์นั้นน่าจะอยู่ในช่วงสมัยของนเรนทราทิตย์ ที่เป็นต้นราชวงศ์และเป็นผู้ครอบครองดินแดนพนมรุ้งมาแต่เดิม อีกทั้งยังได้รับการยอมรับแล้วถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเมือง จากนั้นก็ได้ดำเนินการสร้างปราสาทหินหลังนี้ต่อ
ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18 หลังจากที่นเรนทราทิตย์ได้สิ้นชีพลงไปนั้น ก็ยังได้รับการยกย่องให้เป็นสมมุติเทพ เพราะเชื่อว่าได้บรรลุโมกษธรรมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระศิวะ ต่อมาในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7ลัทธิไศวนิกายก็ได้เสื่อมสลายจากดินแดนแถบนี้ เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้หันมานับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน และเทวสถานแห่งนี้ก็ถูกดัดแปลงเป็นวัดนิกายมหายาน
สถาปัตยกรรม
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นศิลปะขอมโบราณ เน้นความสำคัญของส่วนประกอบเข้าหาจุดศูนย์กลาง มีการแกะสลักหน้าบันและทับหลังที่ปราณีต ละเอียดอ่อน ลวดลายชัดเจน งดงาม ว่าด้วยเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น ทับหลังรูปแกะสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์(ในปัจจุบันได้ถูกขโมยไปแล้ว)
สะพานนาคราช เป็นทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท ข้างทางทั้งสองฝั่งมีเสานางเรียงจำนวน 35 ต้นเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ราวสะพานเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร กึ่งกลางสะพานมีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบหมายถึงเทพประจำทิศทั้ง 8 สะพานชั้นที่ 1 มีบันได 52 ขั้นที่ขึ้นไปสู่ลานบนยอดเขาแล้วเจอซุ้มประตูระเบียงคตทางทิศตะวันออก หน้าบันสลักรูปฤๅษีที่หมายถึงศิวะรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือหมายถึงนเรนทราทิตย์ที่เป็นผู้ก่อตั้งปราสาทแห่งนี้ สะพานชั้นที่ 2 ระเบียงคตเป็นห้องยาวแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ ด้านขวาของบันไดมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ก่อนเข้าสักการะหรือเข้าประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ตัวปราสาทประธาน ตั้งอยู่ศูนย์กลางของปราสาทชั้นใน ก่อด้วยหินทรายสีชมพู เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลางมีห้องที่เรียกว่า
ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด คือศิวลึงค์ แต่ในปัจจุบันได้หายไปแล้ว เหลือแต่เพียงท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์
ในทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารสองหลังที่ก่อด้วยหินศิลาแลง นั่นคือบรรณาลัย หรือคนปัจจุบันเรียกว่าห้องสมุด ซึ่งใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา นอกจากตัวปราสาทประธานแล้ว ยังมีปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อยรายล้อมอยู่ในบริเวณนี้อีกด้วย
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน
ในช่วง 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นและส่องแสงลอดผ่านประตูทั้ง 15 บานพร้อมกันทางทิศตะวันออก และยังรอชมดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตกได้อีกในช่วง 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงผ่านศิวลึงค์ จะเป็นการเพิ่มพลังในการดำเนินชีวิตต่อไปของเราได้ ในสมัยก่อนสถาปนิกชาวขอมโบราณมีความรอบรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาก สามารถวางผังปราสาทให้ตรงตามทิศตะวันออก-ตกได้ จนในวันขึ้น 15 ทำให้เรามองเห็นพระอาทิตย์ส่องแสงผ่านประตูได้ตรบทุกบานได้
ภายหลังนี้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นการช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น จึงมีการจัดกิจกรรม "งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง" ชมมหัศจรรย์การขึ้นและตกของพระอาทิตย์และยังมีกิจกรรมอีกมากมาย เช่น การรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง และยังมีจัดสินค้าท้องถิ่นให้ชมและเลือกซื้อกันอีกมากมาย
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทยที่มีนักเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมกันมากมาย เพราะมีความสวยงามทั้งด้านสถาปัตยกรรม มีการแกะสลักที่มีความงดงาม ลวดลายปราณีตอ่อนช้อย เล่าขานถึงเรื่องราวของคนในสมัยก่อนได้อย่างน่าหลงไหล หากเพื่อนๆคนไหนมีโอกาสอยากให้ลองได้ไปเห็นของจริงว่าจะสวยงามขนาดไหน สำหรับบล็อคในวันนี้ขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ ในบล็อคหน้าจะพาเที่ยวที่ไหนอย่าลืมติดตามกันด้วยนะค้าา ^__^
-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-
อ้างอิง
กระทรวงวัฒนธรรม. (2558). อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2561, จาก https://www.m-culture.go.th/young/ewt_news.php?nid=467&filename=index
ไปด้วยกัน.คอม (2561). เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2561, จาก https://www.paiduaykan.com/province/Northeast/buriram/phanomrung.html
sanook.com. (2561). ชวนเที่ยงมหัศจรรย์ปราสาทพนมรุ้ง ชมดวงอาทิตย์ลอด 15ช่องประตู.ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561,จาก https://www.sanook.com/travel/1394897/
Loychun. (2561). อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง. ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก https://th.m.wikipedia.org/wiki/อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง